เทคนิคการเขียนบทความ (Blogger) – Part 2

เทคนิคเบื้องต้นในการเขียนบทความ (Blogger) – Part 2

ต่อจาก เทคนิคเบื้องต้นในการเขียนบทความ (Blogger)

หลังจากเพื่อนได้เริ่มสร้าง Blog และคิดออกแล้วว่าจะเขียน Content อะไร ทีนี้ก็มาถึงขั้นตอนของการเริ่มต้นเขียน Blog กันแล้วครับ

Category เมื่อคุณค้นหาและค้นพบแล้วว่าจะเขียนอะไรดี เริ่มต้นจัดหมวดหมู่ของสิ่งที่คุณอยากจะเขียน ในหนึ่งบล็อกไม่จำเป็นจะต้องมีหมวดเดียวนะครับ แต่ก็อย่าเยอะจนเกินไป จัดหมวดหมู่ที่เด่นๆ ที่คุณได้เลือกไว้แล้ว มันจะง่ายสำหรับการค้นหาบทความในครั้งต่อๆไป เพราะคุณมีหมวดหมู่แล้ว คุณก็จะรู้ได้ทันทีว่า บทความต่อๆไปในอนาคต คุณควรจะเขียนบทความเกี่ยวกับอะไรดี

องค์ประกอบของบทความ เอาล่ะครับ เราจะมาเริ่มต้นเขียนบทความกันแล้ว มารู้จักกับองค์ประกอบหลักๆในการเขียนแต่ละบทความกันครับ ซึ่งบล็อกแต่ละที่ ก็อาจจะมีองค์ประกอบในการเขียนต่างกันบ้างเล็กน้อยครับ

  • Title หัวเรื่องของบทความ ใช้คำให้กระชับ อย่าเยิ่นเย้อ สำคัญคือ ใช้คีย์เวิร์ดมาเป็นหัวเรื่องด้วยก็จะดีมาก เรียนรู้การใช้คีย์เวิร์ดให้ถ่องแท้ครับ เพื่อจะได้มีความชำนาญในการนำคำจากคีย์เวิร์ดมาผสมเป็นหัวเรื่องของบทความ
  • Description หรือ Summary ผมจะไม่พูดถึง permalink และ meta ต่างๆนะครับ เรื่องเหล่านี้อยากให้เพื่อนๆลองไปศึกษาเพิ่มเติม ผมจะพูดถึงแค่ความสำคัญของ Description หรืออีกคำที่มีความหมายเดียวกันคือ Summary มันจะมีประโยชน์มากเวลาที่เพื่อนๆนำไปโพสตามเว็บ Submit Article เพราะจะมีช่องให้ใส่เรื่องย่อๆ ประมาณ 2-3 บรรทัด ให้ตระเตรียมเอาไว้นะครับ เพราะเพื่อนๆจะต้องนำไปซับมิทแน่นอน
  • รูปประกอบ อันนี้สำคัญมากอีกเช่นกัน ควรมีรูปประกอบครับเพื่ออรรถรส และการอ่านสัญลักษณ์จากรูปภาพ ก็เป็นกลวิธีการอ่านเชิงจิตวิทยาของคนเราครับ เพราะฉะนั้น หารูปประกอบที่เข้ากับบทความของคุณ แล้วนำมาใส่ในบทความด้วยครับ
  • Keyword สำคัญมาก (อีกแล้ว) พยายามศึกษาเรื่องของคีย์เวิร์ด จากนั้นลองเลือกคำที่เป็นคีย์เวิร์ดออกมาครับ และจะต้องเป็นคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับบทความนะครับ อีกประการคือ อย่าใส่คีย์เวิร์ดจนเยอะเกินไป มันไม่เป็นผลดีต่อบทความของคุณครับ

ลงมือเขียนแล้วตรวจสอบ เมื่อเพื่อนๆเขียนบทความเรียบร้อย โพสลงบล็อกเรียบร้อย ขอให้เข้าไปเช็คอีกครั้ง โดยเข้าไปเช็คจากหน้าเว็บบล็อกจริงๆนะครับ ให้เสมือนเป็นผู้อ่านทั่วไป จากนั้นดูจุดบกพร่องว่าควรจะแก้ไขหรือเสริมแต่งอะไรบ้าง เช่นในเรื่องของการจัดหน้า การจัดตำแหน่งรูป หากอ่านทวนได้อีกรอบก็จะดีมากครับ เรียกว่า พิสูจน์อักษร เพื่อตรวจทานคำผิด คำซ้ำ คำฟุ่มเฟือยต่างๆ การทวนในลักษณะของการเป็นผู้อ่าน จะทำให้คุณพบว่ามันจะได้อีกอารมณ์หนึ่ง บางครั้งในตอนที่เขียนบทความ อาจจะรู้สึกว่าดีแล้ว แต่เมื่อมาทดลองให้เสมือนตัวเองเป็นนักอ่าน กลับพบข้อบกพร่องบางอย่าง การตรวจสอบนี้ เป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้คุณได้บทความที่ดีสุดสำหรับบล็อกของคุณครับ

อย่าลืม Share เพื่อนๆอุตส่าห์ทำเมนูอาหารแสนอร่อย ถ้าไม่แบ่งปันให้เพื่อนบ้านชิม ก็ไม่มีใครได้อิ่มรู้กับรสชาติอาหารของเพื่อนๆ อย่าลืมที่จะแบ่งปันผ่านระบบ Share ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Social Network, Submit Bookmark, Submit Article, บอกต่อคนรู้จัก, หรือวิธีการใดก็ตาม ไม่ต้องอายครับถ้าเพื่อนๆจะป่าวประกาศให้ผู้คนได้รู้จักบล็อกไฉไลของเพื่อนๆ เอง

จำไว้ว่าอย่าขาย แน่นอนครับ อย่าหลงประเด็นในการทำการตลาด คุณอย่ามุ่งหวังที่จะขายของมากเกินงาม บล็อกที่คุณสร้างขึ้นมา มันจะเป็นเครื่องมือให้คุณได้นำเสนอตัวเองต่อผู้คนนับล้าน มันเหมือนงานเลี้ยงสังสรรค์ขนาดใหญ่ ระหว่างคนที่นำสินค้ามาขายแขกในงาน กับคนที่นำเรื่องราวที่น่าสนใจมาเล่าให้คนอื่นฟัง คุณคิดว่าคนแบบไหนน่าคบหามากกว่ากันครับ

อ้างอิง คุณอาจจะไม่มั่นใจที่จะเริ่มเขียนบทความด้วยตัวเอง นี่ก็จะเป็นอีกวิธี คือการอ่านบทความจากที่อื่น หากว่าคุณสนใจ ก็สามารถหยิบยกมา แล้วอ้างอิงถึงที่มาของบทความนั้น เป็นการให้เกียรติและรักษามารยาทแก่เจ้าของบทความตัวจริงด้วยครับ โดยใส่เป็นชื่อผู้เขียน ชื่อหนังสือหรือชื่อเว็บ แล้วลิ้งค์ไปหาบทความนั้นๆ แต่คุณก็อย่า copy แล้ว paste อย่างเดียว แนะนำให้เปิดเรื่องด้วยคำพูดง่ายๆ เช่น ว่า -ไปอ่านเจอมาที่… และคิดว่าน่าสนใจเพราะ… จึงนำมาเผยแพร่แก่…-

ในต่างประเทศ การนำบทความของผู้อื่นมาเผยแพร่ เป็นวัฒนธรรมไปแล้วครับ แต่วัฒนธรรมของเขาน่าชื่นชมกว่าคนไทย เพราะพวกเขารักษากฎระเบียบมากก็คือ -หากนำของเขามา ก็จะต้องอ้างอิงที่มาเสมอ- ข้อนี้หลายคนยังละเลย แต่หลายคนก็น่าชื่นชมครับที่รักษากฎได้เป็นอย่างดี เราควรเอาเยี่ยงอย่างสิ่งที่ดีครับ หากนำบทความของใครมาแล้วก็ตาม ควรจะอ้างอิงถึงเขาด้วย ยิ่งถ้าแหล่งที่มาเป็นเว็บ ก็ควรจะลิ้งค์กลับไปหาเขา แต่ทั้งนี้ เจ้าของบทความเขาต้องอนุญาตด้วยนะครับ ถ้าเขาระบุว่าไม่อนุญาตให้นำไปเผยแพร่ที่อื่น ก็อย่าดื้อ เขาสามารถฟ้องร้องเรื่องลิขสิทธิ์ได้ เพราะงานเขียนทุกประเภท ได้รับการคุ้มครองตามพ.ร.บ.ตั้งแต่ลงมือเขียนครับ

เทคนิคการเขียน Content ยังมีอีกมาก อาจจะเรียนรู้ได้ไม่จบสิ้น ผมเพียงจับเป็นประเด็นหลักๆเท่านั้น เพื่อให้ง่ายในการจะเริ่มต้นเขียนบทความลงบล็อก เพื่อนๆสามารถต่อยอดศึกษาไปได้อีกมากมายครับ เช่นเรื่องของ Content ต่างๆ ที่ยังมีอีกเยอะแยะจนเขียนไม่หวาดไม่ไหว ผมสนับสนุนการทำการตลาดในรูปแบบนี้เพราะชีวิตหนึ่งของคนเรา มีเหตุการณ์มากมายผ่านเข้ามา มันง่ายดายมากที่จะหยิบเรื่องราวหลายร้อยหลายพันฉากราวบทละคร มาเขียนเป็นบทความสั้นๆเพียงไม่กี่ย่อหน้า

เริ่มต้นจากการทำตัวให้น่าสนใจ ด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ อัญมณีที่มีชื่อว่า ‘Personal Branding‘ ก็จะอยู่ในกำมือของคุณแน่นอนครับ


Thank..funnybiz.ws
 www.mycom1977.com

LinkWithin

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...